ประวัติโรงเรียนสันติศึกษา

วันที่ 06 ต.ค. 2567
                                
โรงเรียนสันติศึกษา เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญ15(1) ในกำกับของมูลนิธิเพื่อการศึกษาอิสลามเชียงใหม่   ตั้งอยู่  เลขที่  7/2  ถนนประชาสัมพันธ์  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  ตั้งอยู่บนเนื้อที่  2 ไร่  11  ตารางวา  โรงเรียนสันติศึกษาได้ก่อตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลชาวมุสลิม เชื้อสายจีนยูนนาน ในจังหวัดเชียงใหม่  ได้มองเห็นความสำคัญของการศึกษาของเยาวชนมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่  ทั้งด้านสามัญ และศาสนา  ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเยาวชนมุสลิมต้องเข้าไปศึกษาในโรงเรียนต่างศาสนาและโรงเรียนวัด  ซึ่งไม่สะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจ  

                                 ด้วยเหตุนี้  ทางคณะผู้ก่อตั้งจึงมีแนวความคิดที่จะตั้งโรงเรียนสามัญควบคู่กับการสอนศาสนาเพื่อให้เยาวชนมุสลิมมีความรู้ทั้งด้านสามัญและด้านศาสนา  นอกจากนี้ผู้ก่อตั้งได้เล็งเห็นความสำคัญในการให้การศึกษาแก่เด็กที่ยากจนขัดสนและเด็กกำพร้าให้มีโอกาสได้รับการศึกษา เพื่อส่งเสริม และปลูกฝังให้เยาวชนเป็นมุสลิมที่ดี  มีความรู้ และมีความเข้าใจในหลักการของศาสนา  สำหรับนักเรียนนับถือศาสนาอื่น โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เข้ามาศึกษาทั้งด้านสามัญและศาสนาที่ตนนับถือ  เพื่อให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการเรียนรู้ และมีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี  เป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต
                                 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2523 กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิขึ้น ชื่อว่า  “มูลนิธิเพื่อการศึกษายูนนาน-มุสลิมเชียงใหม่”เพื่อขอจัดตั้งโรงเรียน ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิเพื่อการศึกษาอิสลามเชียงใหม่”ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543
                                 วันที่ 15 มิถุนายน 2527 โรงเรียนสันติศึกษาได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการตามใบอนุญาตเลขที่  07/2527  ให้เปิดทำการสอนโดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า  “โรงเรียนอนุบาลสันติศึกษา”เปิดทำการสอนชั้นอนุบาลปีที่ 1-2 จำนวน 2 ห้องเรียน  มีครู 2 คน พี่เลี้ยง 1 คน และภารโรง 1 คน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 41 คน โดยมีนายสรชาญ  โชคชัยวงค์ เป็นผู้รับใบอนุญาต  นายอารีย์    วีระพันธุ์  เป็นผู้จัดการและครูใหญ่
                                  ต่อมาในปี พ.ศ.2529  โรงเรียนได้ขอเปิดขยายชั้นเรียน  ชั้นอนุบาลปีที่ 1- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  จำนวน  8 ห้องเรียน  ตามใบอนุญาตเลขที่  190/2529 เมื่อวันที่  16 พฤษภาคม 2529  และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน  จาก “โรงเรียนอนุบาลสันติศึกษา”  เป็น “โรงเรียนสันติศึกษา”
                                  ในปี  พ.ศ.2535  โรงเรียนได้ขอเปิดขยายชั้นเรียน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 3  ตามใบอนุญาตเลขที่  ชม.018/2535  เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2535
                                  ปัจจุบันโรงเรียนสันติศึกษา  เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  โดยรับนักเรียนชาย-หญิง ตั้งแต่อายุ 3-15 ปี มีนายสมชาย อภิชัยรักษ์ เป็นผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการ  และนายวสันต์ อัศววิริยะกุล  เป็นผู้อำนวยการ  มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น  355 คน  มีบุคลากรทั้งหมด 40 คน ประกอบด้วย ครูประจำ 23 คน ครูพิเศษ 3 คน พี่เลี้ยง 5 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 3 คน   แม่ครัว 3 คน และนักการภารโรง 2คน และจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ มีอาคารเรียนจำนวน 3 หลัง ดังนี้
                                  อาคารอนุบาล  ประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องกิจกรรมเสรี
                                  อาคารประถม-มัธยม 1  ประกอบด้วย ห้องเรียน และห้องสื่อการสอน
                                  อาคารประถม-มัธยม 2ประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องละหมาด ห้องสมุด ห้องสื่อการสอน ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องพักครู ห้องธุรการ-อำนวยการ และโรงอาหาร
                                  โรงเรียนสันติศึกษา มีนโยบายจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ  เพื่อให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรู้ มีคุณธรรม และจริยธรรม  เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียน  คือ  “ศึกษา พัฒนา สันติ”และคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า “ประพฤติดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม”ซึ่งจะทำให้นักเรียนเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต
                                  โรงเรียนฯ ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ.รอบที่ 1อยู่ในระดับดี และ รอบที่ 2อยู่ในระดับดีมาก  
                                  ในขณะเดียวกันโรงเรียนฯ ได้รับการประเมินตามโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จากกรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุขครั้งที่ 1ได้รับการรับรองในระดับเหรียญเงิน และครั้งที่ 2ได้รับการรับรองในระดับเหรียญทอง
 
รายชื่อครูใหญ่-ผู้อำนวยการตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนสันติศึกษาถึงปัจจุบันดังนี้
นายอารีย์  วีระพันธุ์           ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2529 – 10 มิถุนายน 2538
นายวาทย์  ศรีจันทร์ดร       ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2540 – 1 พฤษภาคม 2546
นายบุญศรี  แสงซอน         ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2546 – 13 กรกฎาคม 2547
นายธนิต  จุลพันธ์             ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2547 – 30 เมษายน 2551
นางจิตรา  กวินกุล             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2551 – 30 เมษายน 2553
นายวสันต์  อัศววิริยะกุล      ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 – 
นายสมศักดิ์  หมอกบุญเรือง       ปัจจุบัน
ข้อมูลจาก  อ.วสันต์  อัศวริยะกุล อดีต ผอ.รร.สันติศึกษา
 
 
 
ประวัติการสร้างโรงเรียนสันติศึกษา
             ย้อนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๐ คุณหม่าเหยาฮว่า คุณมาเอินโซว และคุณเลา ลู่ควร เห็นว่าเชียงใหม่ยังขาดโรงเรียนที่สอนทั้งภาษาไทยและภาษาอาหรับ ที่จะให้การศึกษาแก่เยาวชนมุสลิมของพวกเราและให้การช่วยเหลือแก่นักเรียนที่ยากจน จึงมีความคิดที่จะก่อตั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาที่สอนภาษาไทยและภาษาอาหรับ ต่อมาไม่นานด้วยความช่วยเหลือจาก อัลลอฮฺ (ซ.บ.)   คุณเลา ลู่ควรได้ตกลงซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสันติศึกษาในปัจจุบันเป็นจำนวนเงิน 690,000 (หกแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน)   คุณหม่าเหยาฮว่าและคุณหม่าหยูฉี่ ได้รวบรวมเงินทุนมีมิตรสหาย 16 ท่าน ได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนสันติศึกษาดังต่อไปนี้
       1.คุณหม่าเหยาฮว่า          บริจาค      450,000
       2.คุณหม่าหยูฉี่                 บริจาค      230,000        
       3.คุณมาเอินโซว               บริจาค       220,000        
       4.คุณเลา ลู่ควร                บริจาค       200,000  
       5.คุณหยางเอินจ้าว           บริจาค       200,000    
       6.คุณมาหยาตง                บริจาค       200,000       
       7.คุณอู๋หยั่งหมง                บริจาค       100,000                   
       8.คุณหวังหมิ่งแซว             บริจาค       50,000          
       9.คุณจ้าวจิ่นฟง                 บริจาค       50,000
      10.คุณมาเหวินฮวาง          บริจาค       30,000
      11.คุณมาเหยซาง              บริจาค       30,000
      12.คุณหน่าเฮ่าหย่าง          บริจาค      10,000
      13.คุณมาเสาซาง              บริจาค       10,000    
      14.คุณหมู่เจิงฟาง             บริจาค        4,000
      15.คุณหน่าเหว่ยจง           บริจาค        4,000
      16. คุณหยิ่งจือฟาง            บริจาค        2,000

รวมยอดเงินบริจาค   1,790,000 บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน)
จ่ายค่าที่ดิน โดย คุณมาหยูฉี่                                                690,000             บาท
ค่าก่อสร้างโรงเรียนเป็นเงิน                                                   950,000             บาท
ค่าก่อสร้างตัวกำแพงและสนามภายใน                                  181,942.56        บาท
   รวม 3 รายการจ่ายไป                                                        1,821,942.56     บาท 

                       หลังการก่อสร้างขาดเงินอีก    31,942.56    บาท เงินจำนวนนี้ คุณมาหยูฉี่ รับผิดชอบบริจาคเพิ่มให้ครบ     จากนั้นทางโรงเรียนต้องการเปิดสอนในระดับมัธยมตามเนื้อที่เดิมที่มีอยู่ไม่สามารถเปิดสอนในระดับมัธยมได้ (ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ)    คุณเลา ลู่ควรได้เป็นผู้จัดหาที่ดินเพิ่มอีก     28     ตารางวา เป็นจำนวนเงิน   280,000 (ค่าที่ดินโรงเรียนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย)   ครบตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ จึงสามารถเปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมได้   ในระหว่างนั้นคุณหม่าหยูฉี่ ยังเขียนรายชื่อผู้บริจาคเงินไว้ 1 ฉบับ มอบให้คุณเลา ลู่ควร เก็บรักษาไว้ พร้อมกับกำชับเก็บรักษาไว้ให้ดี จะมีประโยชน์ในการตรวจสอบว่าโรงเรียน สันติศึกษา เป็นทรัพย์สินขององค์กรการกุศลมวลชน มิใช่ทรัพย์สินของเอกชน จึงควรจัดตั้งคระกรรมการตามระเบียบขององค์กรการกุศล และเลือกประธานกรรมการ เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารงาน จัดระบบบัญชี ทำรายงานชี้แจงรายละเอียดบัญชี ค่าใช้จ่าย กำไร ขาดทุน ของโรงเรียน เพื่อแสดงให้เห็นสภาพการเงินของโรงเรียน
                       นโยบาบการเรียนการสอนรวมถึงการประเมินผล การเรียน การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโรงเรียนต้องรายงาน เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของผู้ก่อตั้งโรงเรียน และเพื่อให้พี่น้องมุสลิมชาวเชียงใหม่เข้าใจข้อเท็จจริงของการก่อตั้งโรงเรียน เพื่อความกระจ่างจึงบันทึกไว้บนแผ่นหินเพื่อเป็นหลักฐานตลอดไป

                   พยาน    นายเลา   ลู่ควร (หน่าเจินเฉิ่ง)
                วันที่     13      เดือนธันวาคม ค.ศ. 2002
 อาคารเรียนหลังที่ 2
           จากการได้รับบริจาคเงินสร้างอาคารเรียนหลังที่ 2 ของโรงเรียนสันติศึกษา     
                                             คุณบุญศรี อินทนันท์
         ได้เป็นผู้จัดการบริหารเงินที่ได้รับบริจาค ในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่ 2

การเลิกมูลนิธิ
   ธรรมนุญโรงเรียน ข้อ 39. ถ้ามูลนิธิต้องล้มเลิกไป โดยมติของคณะกรรมการหรือโดยเหตุใดก็ตาม ทรัพย์สินทั้งหมดที่เหลื่ออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่มัสยิด เฮดายาตุ้ลอิสลาม (บ้านฮ่อ) ตำบลช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่